ปรับตัวอย่างไร? เมื่อลูกเข้าสู่..."วัยรุ่น"


ทำไมเรื่องนี้จึงสำคัญ?

เพราะวัยรุ่นเป็นวัยที่เด็กมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก ทั้งในด้านร่างกาย จิตใจ ความคิด และ สังคม การดูแลจึงต้องมีการปรับเปลี่ยนให้เข้ากับธรรมชาติของวัยรุ่น

ปัญหาที่พบบ่อยคือ ผู้ปกครองมีวิธีการเลี้ยงดู,การสื่อสารที่ขัดกับธรรมชาติการเติบโตของวัยรุ่น ซึ่งเมื่อมนุษย์กระทำการฝืนธรรมชาติ สุดท้ายก็ต้องเป็นทุกข์ เพราะธรรมชาติคือความจริงที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้


ธรรมชาติของวัยรุ่นเป็นอย่างไร?

ด้านสมอง จะมีการพัฒนาสมองส่วนความคิดความอ่านอย่างมาก ส่วนการพัฒนาสมองด้านการควบคุมตนเองจะค่อยๆพัฒนาในอัตราเร็วที่ช้ากว่า เราจึงเห็นว่าเด็กวัยรุ่นมักมีความคิดความอ่าน ความมั่นใจที่มากขึ้น แต่การควบคุมการแสดงออกอาจจะยังไม่ดีนัก อาจใจร้อน ขาดความชั่งใจ หรือคิดไม่รอบด้าน

ด้านบุคลิกนิสัย จากเดิมที่เด็กเดินตามแผ่นหลังผู้ดูแล ในวัยนี้เด็กจะได้รับอิทธิพลจากเพื่อน ครู ไอดอล ได้รับความรู้จากแหล่งต่างๆ ผ่านการค้นหา ผ่านการลองผิดลองถูก นำชิ้นส่วนต่างๆมารวบรวมกับบุคลิกเดิม เกิดเป็นตัวตนของปัญเจกชนคนหนึ่ง ที่มีความคิด/ความเชื่อ/ความชอบ เป็นลักษณะเฉพาะของตัวเอง

ทำให้บุคลิกภาพของวัยรุ่นอาจจะออกมาเป็นลักษณะ

1. ดื้อ ไม่เชื่อฟังเหมือนตอนเด็กๆ เชื่อคนอื่นมากกว่าพ่อแม่
เพราะ เด็กกำลังรับความรู้/ความคิด จากแหล่งอื่น ซึ่งเด็กรู้สึกว่าชุดความคิดนั้นมีเหตุมีผล น่าเชื่อถือ ตรงกับจริตของเด็กมากกว่าชุดความคิดที่ผู้ปกครองมอบให้

2. ห้าว ก้าวร้าว หงุดหงิดง่าย
เพราะ สมองส่วนควบคุมการยับยั้งชั่งใจในเด็กวัยรุ่น ยังเจริญไม่ทันสมองส่วนความคิด เราจะเห็นว่าบางทีเด็กฉลาดก็เผลอทำอะไรที่บุ่มบ่ามขาดการชั่งใจ

3. ต้องการอิสระ ไม่ชอบถูกบังคับ
เพราะ วัยรุ่นเป็นวัยที่เด็กจะสร้างตัวตนของปัญเจกชนขึ้นมา จึงต้องมีอิสระในการหาข้อมูล ลองผิดลองถูก ทำอะไรที่ไม่เคยทำ ซึ่งตัวเด็กต้องการควบคุมชีวิตตัวเอง เป็นคนเลือกเองว่าอยากทำอะไร, อยากไปทางไหน, อยากเป็นอะไร

4. ต้องการพื้นที่ส่วนตัว
เพราะ ไม่ใช่เฉพาะวัยรุ่น แต่คนทุกเพศทุกวัยก็ต้องการสิทธิส่วนบุคคล ต้องการพื้นที่ปลอดภัยที่จะไม่ถูกสอดส่อง/คุกคามจากคนภายนอก (คนภายนอกในที่นี้รวมถึงพ่อแม่ผู้ปกครองด้วย)

หากผู้ปกครองเข้าใจตรงจุดนี้ ก็จะเข้าใจว่าพฤติกรรมที่เด็กเป็นตัวของตัวเอง ดื้อไม่เชื่อฟังเหมือนแต่ก่อน อยากมีอิสระ/พื้นที่ส่วนตัว นั้นมาจากธรรมชาติตามปกติ ไม่ใช่เรื่องแปลก


ผู้ปกครองต้องปรับตัวอย่างไร?

1. ไม่ตั้งความคาดหวังที่ผิดธรรมชาติของวัยรุ่น เพราะความคาดหวังนั้นไม่มีทางเป็นจริงได้ เช่น
- คาดหวังว่าลูกจะเชื่อฟังเราเหมือนตอนเด็กๆ
- คาดหวังว่าลูกจะเลือกในสิ่งที่พ่อแม่เลือกให้
- คาดหวังว่าพ่อแม่จะเป็นทุกอย่างในชีวิตลูกตลอดไป
- คาดหวังว่าลูกต้องบอกพ่อแม่ทุกเรื่อง ไม่มีความลับต่อกัน
- คาดหวังว่าจะสามารถติดตามควบคุมพฤติกรรมลูกได้ทุกฝีก้าว
ฯลฯ
บางตัวอย่างอาจดูตลก แต่ก็มีผู้ปกครองที่คิดแบบนี้จริงๆ ซึ่งสุดท้ายทั้งผู้ปกครองและเด็กก็จะเกิดความทุกข์ เพราะมีการคาดหวังที่ผิดธรรมชาติ เด็กทำไม่ได้เด็กก็ทุกข์ พ่อแม่ผิดหวังก็จะทุกข์


2. ขยายอิสระตามความพอดี
เด็กวัยรุ่นต้องการอิสระมากขึ้น จากเดิมที่เป็นรถวิ่งบนถนนเลนเดียว เด็กก็อยากจะวิ่งในถนนที่กว้างขึ้น พ่อแม่ต้องขยายถนนให้ ในขอบเขตของความพอดี เช่น
อยากไปลองเรียนอะไรที่ไม่มีโทษ ถ้าพ่อแม่สนับสนุนได้ควรสนับสนุน
อยากไปเที่ยวกับเพื่อน ไปได้ แต่ภายในเงื่อนไขความปลอดภัยที่ตกลงกัน
อยากทำอะไรที่พ่อแม่ดูว่าไร้สาระ ทำได้ แต่ต้องไม่ทำให้เสียการเรียนและความสัมพันธ์ในบ้าน
ฯลฯ
ถ้าผู้ปกครองไม่ปรับการดูแล ฝืนจำกัดอิสรภาพของเด็กจนความอึดอัดทะลุขีดความอดทน เด็กจะไปวิ่งถนนสายอื่นที่พ่อแม่ตามไปดูแลไม่ได้ อาจนำไปสู่การหลุดจากระบบการศึกษา หรือ อาชญากรรม


3. ลดบทบาทผู้ออกคำสั่ง เพิ่มบทบาทที่ปรึกษา
เด็กวัยรุ่น เกลียดมากกับการถูกดูหมิ่นไม่ให้คุณค่า ความคิด/ความฝันของตน ดังนั้นในการพูดคุย โน้มน้าววัยรุ่น การพยายามใช้คำสั่ง ใช้อำนาจบังคับ ใช้ความเป็นผู้ใหญ่/เป็นพ่อแม่/เป็นครูมาข่มเด็ก จึงเป็นทางที่ไม่เหมาะสม และ ไม่ได้ผลด้วย
- ผู้ดูแล ควรรับบทเป็นที่ปรึกษา เป็นเพื่อนชวนคิด ในแง่มุมต่างๆดังนี้
- ให้ข้อมูลเพิ่มเติม ข้อมูลที่เด็กมีอยู่อาจไม่ครบ หรือ ไม่ถูกต้องไปทั้งหมด
- ให้ตัวเลือกเพิ่ม เด็กคิดว่ามีตัวเลือก2ตัว แต่จริงๆอาจจะมี10ตัวเลือกก็ได้
- พิจารณาข้อดี/ข้อเสีย
- พิจารณาผลที่จะตามมา
- พิจารณาความเป็นไปได้
- พิจารณาการบริหารความเสี่ยง
เมื่อได้มีการชวนคิดครบถ้วนแล้ว เด็กก็จะสามารถตัดสินใจได้ด้วยชุดความคิดใหม่ที่สมบูรณ์ขึ้น สุดท้ายไม่ว่าเด็กเลือกตัวเลือกที่พ่อแม่ต้องการหรือไม่ พ่อแม่ก็ต้องยอมรับและยังคงให้ความรัก ความช่วยเหลือลูก


4. ช่วยในการบริหารความเสี่ยง
สมองส่วนควบคุมการยับยั้งชั่งใจในเด็กวัยรุ่น ยังเจริญไม่ทันสมองส่วนความคิด เราจึงจะเห็นว่าบางทีเด็กฉลาดก็เผลอทำอะไรที่บุ่มบ่ามขาดการชั่งใจ จึงเป็นหน้าที่ของผู้ดูแลที่จะช่วยในการควบคุมความเสี่ยงให้ไม่เกิดเหตุการณ์ที่แก้ไขไม่ได้/ส่งผลกระทบใหญ่ต่อชีวิต เช่น
- ตั้งครรภ์/ทำคนอื่นตั้งครรภ์ หรือ ติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- พัวพันกับสารเสพติด/อาชญากรรม/ถูกล่อลวง
- หลุดออกจากระบบการศึกษา
ฯลฯ
หากอิสระที่เด็กขอทำให้เกิดความเสี่ยงรุนแรงโดยไม่มีวิธีป้องกันความเสี่ยง ต้องอธิบายให้เด็กเข้าใจว่า ด้วยความรักของผู้ปกครอง เราไม่สามารถให้อิสระตรงนี้ได้


5. เป็นร้านสะดวกซื้อให้ลูก
เมื่อวัยรุ่นออกไปมีอิสระ ลองผิดลองถูก ย่อมต้องพบเจอความล้มเหลว/ความผิดหวัง/ความว้าวุ่นใจ เป็นเรื่องปกติ ผู้ปกครองควรเป็นร้านสะดวกซื้อ ที่เด็กสามารถมาพักกายพักใจ ปรึกษา ขอความช่วยเหลือได้ตลอดเวลา
ไม่ควรซ้ำเติม พูดเสียดสี ดูถูกดูหมิ่น พูดสวนให้เด็กจุก หรือ ไม่ฟัง/ไม่สนใจ/ฟังผ่านๆ เพราะถ้าทำแบบนั้นเด็กจะมาปรึกษาผู้ปกครองทีเดียว คราวหน้าเขาจะไปปรึกษาคนอื่น ต่อไปมีอะไรก็จะไม่มาบอกผู้ปกครอง สุดท้ายอาจนำไปสู่การถูกล่อลวง/ตัดสินใจผิดพลาดได้


6. คุยกันแบบเพื่อนคุยกับเพื่อน
เมื่อผู้ปกครองคุยกับลูกแบบเพื่อนคุยกับเพื่อน สิ่งที่เด็กจะรู้สึกได้คือ ความเคารพ ความเป็นกันเอง ความปลอดภัย คุยสนุก
เพราะเมื่อเราคุยกับเพื่อน เราจะมีความคิดว่าสถานะของเรากับลูกเท่าเทียมกัน ความคิดเห็นของลูกมีค่าเท่ากับของเรา เวลาเพื่อนพูดเราก็จะตั้งใจฟัง และเมื่อเราเผลอพูดไม่ดีกับเพื่อน เราก็สามารถขอโทษเพื่อนได้อย่างไม่เคอะเขิน



Credit : นายแพทย์พัชรพล กิจภิญโญชัย

ปรึกษาแนวทางการรักษาโดยแพทย์เฉพาะทางและนัดหมายแพทย์

ช่องทางการติดต่อ · โทรศัพท์: 090-959-9304 · LINE: @JOYOFMINDS